×
แชทกับหน่วยงาน
เทศบาลตำบลหนองสนม
ยินดีให้บริการค่ะ....
 
เทศบาลตำบลหนองสนม call ข้อมูลการติดต่อ

เทศบาลตำบล
หนองสนม
อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ เทศบาลตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว
รายละเอียด : ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ตั้ง : 122 หมู่ 17 ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัด สกลนคร รหัสไปรษณีย์ : 47120 โทรศัพท์ : 0-4209-9771 โทรสาร : 0-4209-9771 ต่อ 11 อีเมล์ : obt_nongsanom@hotmail.com อีเมล์สารบัญกลาง : 5470811@dla.go.th เว็บไซต์ : https://www.nongsanom.go.th/ ข้อมูลทั่วไป ตำบลหนองสนมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอวานรนิวาส ห่างจากอำเภอวานรนิวาส 12 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดสกลนคร 58 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 106 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 66,250 ไร่ แยกออกจากตำบลขัวก่าย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.2511 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 10 หน้า 458 ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม 2511 สภาตำบลหนองสนมจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 113 ตอนที่ 9ง หน้า 169 ประกาศ ณ วันที่ 19 มกราคม 2539 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนมยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลหนองสนมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นเทศบาลตำบลหนองสนม เมื่อวันที่ 24 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2555 อาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลขัวก่าย อำเภอวานรนิวาส และตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน และตำบลบะฮี อำเภอพรรณานิคม ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโพนแพง และตำบลบะหว้า อำเภออากาศอำนวย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลศรีวิชัย และตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส ลักษณะภูมิประเทศ ตำบลหนองสนมมีลักษณะเป็นที่สูงทางทิศใต้และลาดต่ำลงทางทิศเหนือของตำบลทำให้พื้นที่ทางทิศตะวันออก เป็นที่ลุ่มสลับดอนเป็นลักษณะลูกคลื่นลอนลึก ทางด้านทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มลูกคลื่นลอนตื้นสลับบางส่วน มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จำนวน 3 สาย คือ ลำน้ำยาม ห้วยเชียงลมและห้วยทิง แหล่งน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง คือ หนองกัด หนองไชยสิทธิ์ หนองอีจ่อย และหนองอีเลิง สภาพทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) เมื่อว่างงานจากฤดูทำนาแล้วก็จะทำสวน เช่น ข้าวโพด แตง มันสำปะหลัง และอีกบางส่วนจะอพยพไปใช้แรงงานในเมืองใหญ่ ตำบลหนองสนมโดยทั่วไปจะเป็นสังคมเกษตร มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน คือ มีความเรียบง่ายใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ค่อยมีการแข่งขันทำให้ชาวบ้านตำบลหนองสนมแห่งนี้มีการพึ่งพออาศัยกันอยู่ตลอดเวลา สภาพเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำนา ส่วนที่เหลือเป็น อาชีพค้าขาย รับจ้าง เลี้ยงสัตว์ ทำสวน และรับราชการ จึงทำให้ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบลแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำนาปี คือ สามารถทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง เหตุผลที่ทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง เพราะว่าในฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งจึงทำให้ไม่มีน้ำในการทำนา พื้นที่ที่ทำนาปี ได้แก่ พื้นที่ทุกหมู่บ้าน โดยพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในช่วงการทำนาปีในพื้นที่ตำบลหนองสนม คือ ข้าวพันธุ์เหนียว เช่น กข6 กข12 เนื่องจากเป็นข้าวที่รับประทานกันในท้องถิ่น รองลงมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ส่วนพันธุ์ข้าวอื่นๆ มีการปลูกเหมือนกันแต่ไม่มาก สภาพทางสังคม 1) การคมนาคมและโทรคมนาคม – การคมนาคมในเขต เทศบาลตำบลหนองสนมใช้การคมนาคมทางบกเป็นหลักในการติดต่อและขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาด ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2307 (วานรนิวาส-บ้านเซือม) – การคมนาคมกับอำเภอใกล้เคียงใช้ทางหลวงเลข 2307 – การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง ซึ่งปัจจุบันได้ถ่ายโอนความรับผิดชอบจากกรมเร่งรัดพัฒนาชมบทมาให้เทศบาลตำบลหนองสนมเกือบทุกสายแล้ว – ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเอกชน 1 แห่ง ตั้งอยู่บ้านบะนกทา หมู่ที่ 1 – สถานีวิทยุชุมชนบ้านเชียงเพ็งจำนวน 1 แห่ง – เครื่องกระจายเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน จำนวน 21 แห่ง 2) ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อ 2.1) ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ จัดขึ้นช่วงระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ภายในงานมีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการก่อเจดีย์ทรายด้วย ประเพณีสงกรานต์จัดขึ้นทุกหมู่บ้านทั่วตำบลหนองสนม 2.2) ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีทำบุญงานมงคลอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการปรารภเหตุดี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านและลูกหลานที่จะได้เข้าพักอาศัย มีความอยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ ซึ่งก่อนจะทำบุญเจ้าภาพจะต้องหาฤกษ์ยาม เพื่อให้รู้ว่าวันใดเหมาะที่จะทำพิธี เมื่อได้วันแล้วก็จะนิมนต์พระ เชิญแขก และพ่อพราหมณ์ที่จะมาทำพิธี อีกทั้งเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ 2.3) ประเพณี เดือนสาม บุญข้าวจี่ บุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานของชุมชนชาวบ้านจะนัดหมายกันมาทําบุญร่วมกันโดยช่วยกันปลูกผามหรือปะรํา เตรียมไว้ใน ตอนบ่าย ครั้นเมื่อถึงรุ่งเช้าในวันต่อมาชาวบ้านจะช่วยกันจี่ข้าว หรือปิ้งข้าวและตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะให้มีการ เทศน์นิทานชาดก เรื่องนางปุณณทาสีเป็นเสร็จพิธี บุญข้าวจี่นิยมทำในราวกลางหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ข้าวจี่ คือข้าวเหนี่ยวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่หรือผลมะตูมขนาดกลาง ทาเกลือเคล้าให้ทั่วและนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนเหล็กหรือบนไม้ไผ่ผ่าซีกสานขัดกันเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนกองไฟที่เป็นถ่านพลิกไปพลิกมามาจนเกรียมโดยรอบ จึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งตีให้ไข่ขาวไข่แดง เข้ากันตีแล้วทาจนทั่วปั้นข้าว จึงเอาย่างไฟให้สุกอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวย่างไฟเสร็จแล้ว ถอดเอาไม้ออก เอาน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างในด้วย น้ำอ้อยอาจเอายัดใส่ข้างในก่อนย่างไฟก็ได้ แต่บางแห่งไม่นิยมใส่น้ำอ้อย 2.4) ประเพณีเลี้ยงปู่ตา ประเพณีการเลี้ยงปู่ตาจะกระทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน กำหนดเวลาเลี้ยงปู่ตามักจะทำระหว่างเดือน ๖ – ๗ ชาวบ้านจะเลี้ยงปู่ตาก่อนที่จะเลี้ยงตาแฮก สถานที่เลี้ยงปู่ตาก็คือ “คอนปู่ตา” อันเป็นสถานที่ปู่ตาสิงสถิตย์อยู่ ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้านจะเลือกป่าไม้ใกล้หมู่บ้านเป็นที่ปลูกหอหรือโฮงให้ปู่ตาอยู่ ภายในหอปู่ตานั้น จะประกอบด้วยรูปปั้นปู่ตา แท่นบูชา ข้าทาสชายหญิง รูปปั้นช้าง ม้า วัว ควาย หอก พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ผู้ที่ดูแลรักษาหอปู่ตาเรียกว่า “เฒ่าจ้ำ” คำว่า “จ้ำ” มาจากคำว่า”ประจำ” เฒ่าจ้ำ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีหน้าที่ เป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้าน เฒ่าจ้ำจึงคล้ายกับทหารคนสนิทของปู่ตา ใครทำอะไรผิดประเพณี ปู่ตาโกรธก็จะบอกผ่านเฒ่าจ้ำไปยังบุคคลที่กระทำผิด ปู่ตาต้องการให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างไร ก็จะบอกผ่านเฒ่าจ้ำไป ชาวบ้านจะติดต่อกับปู่ตาโดนตรงไม่ได้ “ดอนปู่ตา” นั้น จะเป็นบริเวณป่าสงวนที่ชาวบ้านเคารพเกรงกลัวมาก ใครจะไปตัดโค่นต้นไม้ ยิงสัตว์ในเขตดอนปู่ตาไม่ได้ ท่านจะโกรธเพราะถือว่าล่วงเกินบริวารท่าน ปู่ตาจะบันดาลให้ผู้ที่ล่วงเกินมีอันเป็นไป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบการงานไร้ผล ดังนั้น การที่ชาวบ้านเคารพปู่ตา จึงเป็นการอนุรักษ์ป่า และอนุรักษ์สัตว์ ในเขตดอนปู่ตาได้เป็นอย่างดี 2.5) ความเชื่อ ชาวบ้านตำบลหนองสนมมีความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ได้แก่ 1. ไม่นิยมสร้างบ้านค่อมต่อไม้ใหญ่ เพราะเชื่อว่าบุคคลในครอบครัวจะอยู่ไม่สงบสุข 2. เนื่องจากมีกลุ่มคริสตชนจำนวน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านน้ำบุ้น หมู่ที่ 3,บ้านนาจาร หมู่ที่ 7 และบ้านนาจารใหม่พัฒนา หมู่ที่ 20 3. ในวันพระ 8 ค่ำ หรือ 9 ค่ำ ไม่นิยมสีข้าว
ผู้โพส : สำนักปลัด